จากการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ฟิชเชอร์ ได้สรุปว่า ความรู้สึกที่เรียกว่า “ความรัก” แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ หลง รัก และผูกพัน แต่ก่อนที่จะทำความรู้จักกับ 3 ลำดับขั้นของความรัก คุณควรจะรู้จักกับสารเคมีตัวหนึ่งที่ดึงดูดมนุษย์ทุกผู้ทุกคนให้เข้าสู่วังวนแห่งรัก และสารเคมีที่ว่านั้นก็คือ ฟีโรโมน (pheromones)
ฟีโรโมน มีอิทธิพลต่อเราอย่างไรนั้น ลองนึกง่าย ๆ ว่าในแต่ละวันเราต้องเจอกับผู้คนมากมาย ทำไมเราไม่ตกหลุมรักชายหนุ่มสุดเซอร์ที่เจอเมื่อวานนี้ หรือทำไมเราถึงไม่เดินเข้าไปจีบสาวเจ้าสเน่ห์ที่สวนทางกันในลิฟท์ ฯลฯ คำตอบง่าย ๆ ก็เพราะฟีโรโมนไม่ตรงกันจึงไม่เกิดอาการปิ๊งนั่นเอง
ฟีโรโมน หรือ กลิ่นเรียกรัก เป็นกลิ่นเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เหมือนกับลายมือ แต่ฟีโรโมนเป็นกลิ่นที่ไม่มีกลิ่น คือไม่สามารถสัมผัสได้โดยการสูดดมทางจมูก ผู้ที่มีฟีโรโมนตรงกับเราเท่านั้นที่จะรับกลิ่นนี้ได้ ผ่านทางอวัยวะรับสัมผัสในสมองที่เรียกว่า Olfactory
นอกจากมนุษย์แล้วสิ่งมีชีวิตที่มีฟีโรโมน คือ สัตว์บก โดยฟีโรโมนของสัตว์เหล่านี้จะค่อย ๆ ระเหยมาจากต่อมอะโปไครน์ (apocrine gland) ที่อยู่บริเวณรักแร้และอวัยวะเพศ ช่วงไข่ตกจะเป็นเวลาที่สัตว์เพศเมียมีปริมาณฟีโรโมนมากที่สุด หากสังเกตจะพบว่าสัตว์เหล่านี้มักไปยืนเหนือลม เพื่อล่อให้ตัวผู้ตามกลิ่นมาจนเกิดการผสมพันธุ์ ส่วนในมนุษย์นั้น บางประเทศจะมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ ที่ผู้หญิงไม่นิยมโกนขนรักแร้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเก็บกลิ่นฟีโรโมนไว้นาน ๆ นั่นเอง